การใช้พระคริสตธรรมคัมภีร์อย่างถูกต้อง
ซื่อตรงในการใช้คำแห่งความจริง
บทที่ 3
บทที่3
บทเรียนสองบทแรกเราได้ศึกษากันถึงสองส่วนที่สำคัญของพระคัมภีร์ คือพระคริสตธรรมเดิม อันประกอบด้วยหนังสือ 39 เล่ม และพระคริสตธรรมใหม่ประกอบด้วยหนังสือ 27 เล่มด้วยกัน ทั้งสองส่วนรวมกันเข้าก็เป็น 66 เล่ม ซึ่งมีผู้เขียนประมาณ 40 คนด้วยกัน หนังสือหลายเล่มในจำนวนนี้ มีผู้เขียนหลายคนมีชีวิตอยู่คนละทิศคนละทางในโลก คนเหล่านี้พูดภาษาต่างกัน บางคนอยู่กันคนละสมัยห่างไกลกันถึงพันห้าร้อยปี แม้กระนั้นคนเหล่านี้ได้เขียนหนังสือกลมกลืนกันเป็นอย่างดีโดยไม่ขัดแย้งกันเลย โดยข้อพิสูจน์ที่เหนือความสงสัยว่า คนเหล่านี้ที่เขียนพระคัมภีร์ได้รับการทรงนำจากพระเจ้า ในบทเรียนบทนี้เราจะได้ศึกษาดูว่า ทำอย่างไรเราจึงเอาข้อเขียนอันยิ่งใหญ่นี้มาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราได้
ใน 2ติโมเธียว 2.15 พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงอุตส่าห์สำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เป็นคนงานที่ไม่ต้องอาย เพราะเป็นคนที่ซื่อตรงในการใช้คำแห่งความจริงนั้น" ข้อความนี้ได้บ่งให้เราเห็นชัดทีเดียวถึงความสำคัญในการที่จะเข้าใจพระคัมภีร์โดยถูกต้องและสามารถที่จะเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างพระบัญญัติของพระเจ้าที่พระองค์ได้ทรงประทานให้มนุษย์ในยุคอื่น และพระบัญญัติที่พระองค์ประสงค์จะให้เราถือรักษา คือยุคคริสเตียน
อุทาหรณ์
เพื่อที่จะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบัญญัตินี้ อุทาหรณ์ที่จะช่วยให้เราเข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า พระเจ้าไม่ได้ทรงรับสั่งให้เราต่อเรือด้วยไม้โกเฟอร์ ในเมื่อพระองค์ได้ทรงรับสั่งโนฮาให้ต่อเรือ ทุกคนสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า ถึงแม้ครั้งหนึ่งเคยเป็นคำสั่งของพระเจ้าก็ตาม แต่คำสั่งนั้นมิได้บังคับเราในสมัยนี้ และพระเจ้าก็ไม่ประสงค์จะให้มนุษย์ไม่ว่าในยุคใดก็ตามรักษาคำสั่งอันนั้นที่ได้เขียนไว้ในพระคัมภีร์ ก็เพื่อจะได้เป็นประวัติศาสตร์ให้เราทราบว่าพระเจ้าเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไรบ้างในสมัยก่อนที่สมัยคริสเตียนจะเริ่ม
ตัวอย่างเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับบัญญัติที่สั่งไว้ในพระคัมภีร์เดิม เช่น พระเจ้าได้สั่งให้ชนชาติยิศราเอลเอาโลหิตทาไว้ที่กรอบประตูบ้าน (เอ็กโซโด 12.7) หรือเมื่อคนที่อยู่ภายใต้บัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรีเดิมถูกสั่งให้นำสัตว์มาเผา เป็นเครื่องถวายบูชาแก่พระเจ้า ในหนังสืออาฤธโม เราได้อ่าน "...ของถวายคืออาหารของเครื่องบูชาของเรา ที่กระทำด้วยไฟ ที่เป็นโอชารสอันหอมแก่เรานั้น เจ้าทั้งหลายจงบูชา ถวายแก่เราตามเวลากำหนดนั้น... คือลูกแกะขวบหนึ่ง ปราศจากพิการสองตัววันละคู่ ๆ ให้กระทำเป็นนิตย์สำหรับเป็นเครื่องเผาบูชา และลูกแกะนั้นจงบูชาถวายเวลาเช้าตัวหนึ่ง แลเวลาเย็นตัวหนึ่ง แลเอาแป้งละเอียดทะนานหนึ่ง เจือด้วยน้ำมันสกัดดี สำหรับเป็นเครื่องกระยาอาหารถวายของเหล่านี้เป็นเครื่องเผาบูชาทำเป็นนิตย์ที่พระองค์ได้บัญชาตั้งไว้ที่ภูเขาซีนายนั้น เป็นเครื่องบูชากระทำด้วยไฟ เป็นโอชารสอันหอมแก่พระยะโฮวา" (อาฤธโม 28.1-6)
นักศึกษาพระคัมภีร์ที่จริงใจก็จะเข้าใจได้ทีเดียวว่าคำตรัสสั่งของพระเจ้าเหล่านี้ พระองค์มิได้ทรงสั่งแก่เราทั้งหลายที่อยู่ในสมัยนี้ แต่เพื่อจะชี้ให้เราเห็นในแง่ประวัติศาสตร์ว่าพระเจ้าทรงเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไรในสมัยก่อนที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จมา และเป็นผู้ประทานพระคัมภีร์ใหม่ให้เราทั้งหลาย (โรม 15.4) เพราะฉะนั้นความประสงค์ของบทเรียนก็คือ เพื่อจะเรียนรู้ว่าส่วนไหนของพระคัมภีร์เป็นบันทึกของประวัติศาสตร์ ส่วนไหนเป็นบัญญัติ เป็นเหตุการณ์ของสมัยที่ผ่านมาแล้ว และอันไหนใช้เป็นหลักปฏิบัติที่เราจะต้องถือรักษาในสมัยคริสเตียน
ความประสงค์ของพระคริสตธรรมเดิม
คำว่า "สัญญาไมตรี" มาจากภาษากรีกซึ่งมีความหมายว่า "ข้อตกลงหรือพินัยกรรม" ที่เราเรียกว่าคำสัญญาไมตรีเดิมก็เพราะว่าคำสัญญานี้เกี่ยวข้องกับข้อตกลงอัน "เก่า" ซึ่งพระเจ้าเป็นผู้ทำกับมนุษย์ ข้อตกลงหรือคำสัญญาไม่ตรีอัน "เก่า" มาโดยอับราฮามซึ่งได้กระทำไว้แก่ชนชาติยิศราเอลบนภูเขาซีนาย ซึ่งเป็นคำสัญญาไมตรีหรือข้อตกลงอันสำคัญซึ่งพระเจ้าได้ทรงประทานให้แก่มนุษย์ (เฮ็บราย 8.6-13) ภายใต้คำสัญญาแต่ละอันพระเจ้าได้ทรงประทานบัญญัติโดยเฉพาะแก่มนุษย์ เพื่อให้มนุษย์รักษา พระเจ้าได้ทรงสัญญาที่จะช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ซื่อสัตย์เป็นการตอบแทน คำสัญญาไมตรีเดิมได้สำเร็จครบเมื่อเวลาที่พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์ทรงทำให้สำเร็จโดยการ "หยิบเอาเสียให้พ้น และทรงตั้งข้อตกลงอันที่สอง คือ พระคัมภีร์ใหม่แทนคำสัญญาไมตรีเก่า" (โกโลซาย 2.14, เฮ็บราย 9.15)
ในเฮ็บราย 8.7 อ่านดังนี้ว่า "เพราะว่าถ้าคำสัญญาไมตรีเดิมนั้นปราศจากที่ติได้แล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะแสวงหาคำสัญญาไมตรีที่สองอีก " และบทที่ 10.9 ผู้เขียนเฮ็บรายกล่าวว่า "พระองค์ทรงยกเลิกเครื่องบูชาเดิมเสียแล้ว เพื่อพระองค์จะได้ทรงตั้งเครื่องบูชาซึ่งมาภายหลังนั้นให้ถาวร" คำสัญญาไมตรีอันแรกคือพระคัมภีร์เดิม ได้ประทานให้ชนชาติเดียวโดยเฉพาะไม่ใช่แก่ประชาชาติทั้งหลายในโลกอันเป็นคำสัญญาที่เราอยู่ภายใต้บังคับเดี๋ยวนี้ แต่คำสัญญาไมตรีเดิมเป็นคำสัญญาที่กระทำระหว่างพระเจ้ากับชนชาติยิศราเอล (ยิว) (พระบัญญัติ 5.1-3) พระบัญญัติของพระเจ้าต่อชนชาติยิศราเอลภายใต้คำสัญญาไมตรีเดิมนี้ได้ทรงประทานให้โดยโมเซที่ภูเขาซีนาย (หรือเรียกว่า ภูเขาโฮเร็บ) ซึ่งไม่เพียงแต่ประกอบด้วยบัญญัติสิบประการเท่านั้น แต่รวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อบังคับในการเผาสัตว์เป็นเครื่องบูชา เครื่องบูชาถวาย และยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งเราจะนำมากล่าวต่อไป คำสั่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้บังคับเราซึ่งอยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่ (เลวีติโก 5.1-3, อาฤธโม 28.1-11) ภายใต้พระคัมภีร์เดิมสัตว์บางชนิดพระเจ้านับว่าเป็น "สัตว์ไม่สะอาด" เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในสมัยนั้นรับประทานสัตว์ที่ไม่สะอาดเข้าไปก็ผิดพระบัญญัติ สัตว์ที่ไม่สะอาดทั้งหลายในจำนวนนี้มีสัตว์ 2 ชนิด หมูและกระต่าย อันเป็นสัตว์ที่ห้ามรับประทาน (เลวีติโก 11.1-8)
ข้อเพิ่มเติมของคำสัญญาไมตรีเดิม หนังสือหลายเล่มในพระคัมภีร์เดิมได้มีบันทึกประวัติศาสตร์สั้น ๆ เกี่ยวกับการที่พระเจ้าเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร บันทึกไว้แม้ก่อนบัญญัติของโมเซในระยะนี้เป็นเวลาประมาณ 2500 ปี นับตั้งแต่การสร้างอาดามและฮาวา จนถึงตอนที่พระเจ้าทรงประทานพระบัญญัติสิบประการบนภูเขาซีนาย ในสมัยนั้นพระเจ้าไม่ได้ประทานพระบัญญัติที่เขียนเป็นตัวอักษรให้แก่มนุษย์ แต่พระองค์ทรงเกี่ยวข้องกับเขาทั้งหลายเป็นรายบุคคลคือโดยทางหัวหน้าครอบครัว หัวหน้าครอบครัวในสมัยนั้นเรียกว่า "บรรพบุรุษ" ซึ่งหมายถึง "บิดา" ฉะนั้นสมัยนี้จึงได้ชื่อว่า สมัยบรรพบุรุษ รายละเอียดของสมัยนี้ที่เราได้รับมีน้อยมากเว้นไว้แต่ข้อความที่ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเยเนซิศ จุดเด่นที่สำคัญของหนังสือพระคัมภีร์เดิมอื่น ๆ ได้ถูกนับเข้าอยู่ในสมัยของโมเซทั้งสิ้น และคำสัญญาไมตรีที่พระเจ้าทรงประทานให้โมเซบนภูเขาซีนาย คำสัญญาไมตรีนี้ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะสิ้นสุดเมื่อพระคริสต์จะเสด็จมา และจะเป็นผู้ที่ประทานคำสัญญาไมตรีใหม่ หรือ พินัยกรรมอันใหม่ให้แก่เราทั้งหลายซึ่งอยู่ในสมัยคริสเตียน อันเป็นสมัยที่เราดำรงอยู่เดี๋ยวนี้ (ฆะลาเตีย 3.19, 16)
ความประสงค์ของพระคริสตธรรมใหม่
พระคริสตธรรมใหม่ หรือ คำสัญญาไมตรีใหม่ เป็นการสำแดงอันใหม่ที่พระเจ้าทรงประสิทธิ์ประสาทให้มนุษย์สำหรับบัญญัติเก่าของโมเซได้ทรงประทานให้แก่ชนชาติยิวโดยเฉพาะ บัญญัติใหม่มาโดยพระบุตรของพระเจ้า คือ พระเยซูคริสต์ บัญญัติใหม่นี้สำหรับมนุษย์ทุกคนทั่วทุกหนทุกแห่ง (พระบัญญัติ 5.1-3, มาระโก 16.15-16, เฮ็บราย 12.24, 8.6) ชื่อที่มักจะเรียกกันง่าย ๆ ก็คือ "พระกิตติคุณ" ผู้ปฏิเสธไม่เชื่อฟัง ผลก็จะต้องพินาศนิรันดร์ (2เธซะโลนิเก 1.7-9)
ภายใต้พระคริสตธรรมใหม่ กฎข้อบังคับขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่เหมือนกฎซึ่งอยู่ภายใต้บัญญัติเก่าของโมเซ เพียงแต่ครั้งหนึ่งพระเจ้าได้สั่งให้โนฮาต่อเรือด้วยไม้โกเฟอร์ มิได้หมายความว่าพระเจ้าสั่งให้เราปฏิบัติตามเหมือนกับโนฮาในสมัยนั้นในทำนองเดียวกัน พระเจ้าครั้งหนึ่งได้กำหนดให้พวกยิวซึ่งอยู่ก่อนพระเยซูคริสต์ให้เชื่อฟังและรักษา "บัญญัติ" พระคริสตธรรมเดิม แต่พระบัญญัติเดิมนั้นก็ได้สำเร็จไปแล้วและ "พระบัญญัติอันประเสริฐกว่า และได้ทรงตั้งขึ้นโดยคำสัญญาอันดีกว่า" (เฮ็บราย 8.6) ได้แทนบัญญัติที่เก่าไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงคำสัญญาไมตรีก็ทำให้คำพยากรณ์ของยิระมะยาสำเร็จ (ยิระมะยา 31.31-34) คำสัญญาไมตรีใหม่หรือพินัยกรรมของพระเจ้าอันใหม่แก่มนุษย์ ได้มีผลบังคับใช้เมื่อพระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เพราะเราอ่านพบใน เฮ็บราย 9.15-17 "เพราะเหตุนี้พระองค์จึงทรงเป็นคนกลางแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่ เพื่อเมื่อมีผู้หนึ่งตายสำหรับที่จะไถ่ความผิดของคนที่ได้ละเมิดต่อคำสัญญาไมตรีเดิมนั้น แล้ว...ด้วยว่าถ้ามีหนังสือพินัยกรรม ผู้ทำหนังสือนั้นก็ต้องถึงแก่ความตายแล้ว ...แต่ว่าเมื่อผู้ทำยังมีชิวิตอยู่ หนังสือพินัยกรรมนั้นก็ใช้ไม่ได้" จากข้อความนี้เราทราบว่าคำสัญญาไมตรีใหม่ยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าพระเยซูคริสต์ได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเสียก่อน นี่ก็อธิบายว่าทำไมพระเยซูได้สอนอัครสาวกให้รักษาพระบัญญัติของโมเซระหว่างที่พระองค์ได้ออกกระทำการในที่สาธารณะ เมื่อพระบัญญัติเก่ายังคงมีผลใช้บังคับได้โดยพระโลหิตของพระองค์เอง พระเยซูคริสต์ทรงบังเกิดอยู่ภายใต้ในสมัยที่บัญญัติของโมเซมีผลใช้บังคับอยู่ (ฆะลาเตีย 4.4)
หลังจากที่พระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่มีผู้เขียนที่ได้รับการดลใจสักคนเดียวสอนคนทั้งหลายให้เชื่อฟังพระคริสตธรรมเดิม ว่าเป็นบัญญัติของพระเจ้าสำหรับยุคนี้ เราถูกกำหนดให้ถือตามคำสัญญาใหม่ หรือพระคริสตธรรมใหม่ ไม่ใช่บัญญัติแห่งสัญญาไมตรีเดิมอันเป็นคำสัญญาที่ว่าด้วยการถวายสัตว์เป็นเครื่องสักการบูชาและถวายเครื่องบูชายัญด้วยไฟ เกี่ยวกับหลักการแห่งบัญญัติสิบประการนั้น เราไม่ต้องปฏิบัติตามทุกวันนี้ เพราะการที่พระเจ้าตรัสสั่งแก่พวกยิว ซี่งอยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีเดิม ไม่ใช่แก่เราซึ่งอยู่ในสมัยนี้ บัญญัติ 10 ประการของโมเซได้ถูก "กำจัด" หรือถูกเอาไปเสีย (เอเฟโซ 2.15) เหตุที่เรายังคงรักษาหลักการแห่งบัญญัติสิบประการทุกวันนี้เพราะว่าหลักการเหล่านี้ ยกเว้น "จงระลึกถึงวันซะบาโต" ได้ตรัสสั่งไว้ในพระคริสตธรรมใหม่ คือ พระกิตติคุณของพระคริสต์อีกด้วย
วันซะบาโตแห่งพระคริสตธรรมเดิม เป็นวันตรงกับวันเสาร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์ ไม่ได้กล่าวอีกครั้งว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระกิตติคุณของพระคริสต์ (เลวีติโก 23.3) แทนที่จะประชุมกันวันเสาร์ พวกสานุศิษย์ได้มาร่วมประชุมกัน "วันต้นสัปดาห์" (วันอาทิตย์) (กิจการ 20.7, 1โกรินโธ 16.1-2)
ข้อพระคำเพิ่มเติม
บัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรีเดิมบางทีเรียกว่า "บัญญัติของโมเซ" และบางทีก็เรียกว่า "พระบัญญัติของพระเจ้า" (ลูกา 2.22-24) บัญญัติเดิมนี้บางทีได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์เพียงแต่ "พระบัญญัติ" อันเป็นพระบัญญัติของพระเจ้าแก่พวกยิวนับเป็นเวลามากกว่า 1500 ปี อัครสาวกเปาโลมักจะกล่าวถึงบัญญัติเดิมไว้ในหนังสือโรมและฆะลาเตีย...เมื่อเปาโลกล่าวอ้างถึงพระบัญญัติของโมเซ (โรม 7.7, เอ็กโซโด 20.17)
ข้อความในพระคัมภีร์ที่จะหยิบยกมากล่าวดังต่อไปนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้อยู่ภายใต้ "คำสัญญาอันเดิม" ทุกวันนี้ ขอโปรดได้ตรวจดูข้อพระธรรมต่อไปนี้ถ้าท่านมีเวลา
โรม 7.1-4 คริสเตียนได้ "ตายแก่พระบัญญัติ" การที่เราถือตามพระบัญญัติก็เท่ากับว่าเราได้ผิดประเวณีในจิตวิญญาณ
ฆะลาเตีย 5.3-4 ผู้ที่ "ปรารถนาจะได้ความชอบธรรมโดยพระบัญญัติ" ก็ทำให้พระคุณหลุดหายไปเสียแล้ว
ฆะลาเตีย 3.19 "พระบัญญัติ" ใช้ได้จนถึงพระคริสต์เสด็จมา (คำว่า "พงศ์พันธุ์" พระบัญญัติในข้อความนี้หมายถึงพระคริสต์ ข้อ 16)
ฆะลาเตีย 5.18 ผู้ที่พระวิญญาณทรงนำ "ไม่อยู่ใต้พระบัญญัติ"
ฆะลาเตีย 3.24-25 "พระบัญญัติจึงเป็นครูสอนซึ่งนำเรามาถึงพระคริสต์" แต่เราหาได้อยู่ใต้บังคับครูสอนต่อไปไม่" โปรดดู กิจการ 15.1-6, และ 22-27, เฮ็บราย 7.12, เอเฟโซ 2.13-15, ฆะลาเตีย 4.21-31
ข้อความนี้หมายความว่ากระไร?
ข้อพระธรรมต่าง ๆ ซึ่งเรากำลังศึกษาในบทเรียนนี้ มีความสำคัญยิ่งยวดในการที่จะศึกษาพระคัมภีร์ให้ถ่องแท้ดียิ่งขึ้น คำถามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้นักศึกษาพระคัมภีร์หลายคน รู้สึกฉงนสนเท่ห์ไปตามกันแต่คำถามเหล่านั้นจะหมดสิ้นไป ถ้าเราตระหนักว่าทุกวันนี้ เราไม่ได้อยู่ภายใต้พระบัญญัติเก่า ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเราไม่มีความเชื่อพระคริสตธรรมเดิม หรือให้ความยกย่องนับถือน้อยไปกว่าพระคริสตธรรมใหม่ ทั้งพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิมและพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ ได้รับการดลใจจากพระเจ้า เพราะฉะนั้นเราควรจะยกย่องนับถือไว้อย่างสูงทีเดียว เหมือนกับนักศึกษาในวิทยาลัยที่มีความเชื่อมั่นในชั้นเตรียมอุดมศึกษาในสมัยที่ตนเคยเป็นนักศึกษาอยู่ในชั้นนั้น ถึงแม้นักศึกษาคนนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและครูก็ตาม เพราะฉะนั้นในทำนองเดียวกันเราควรยึดมั่นและเชื่อข้อความทุก ๆ ตอนในพระคัมภีร์เก่า แม้ว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ได้อยู่ภายใต้พระคริสตธรรมเดิมก็ตาม
เราควรจะศึกษาพระคริสตธรรมเดิมโดยละเอียดถี่ถ้วนดูว่า พระเจ้าทรงบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ที่เชื่อฟัง และลงโทษผู้ที่ไม่เชื่อฟังอย่างไรในทุกยุคทุกสมัย เปาโลได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ด้วยว่าสิ่งสารพัดที่เขียนไว้แล้วคราวก่อนนั้นก็ได้เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย เพื่อเราทั้งหลายจะได้มีความหวังโดยความเพียรและชูใจตามคำที่เขียนไว้แล้วนั้น" (โรม 15.4) ในขณะที่เราเชื่อฟังพระคัมภีร์ใหม่ คือ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เจ้า ขอให้เราระลึกถึงบทเรียนต่าง ๆ ที่เราได้รับจากพระคัมภีร์เดิม เมื่อเราพยายามต่อสู้เพื่อจะได้รับชีวิต ใกล้ชิดกับพระเจ้าให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตมากยิ่งกว่าในอดีต
ข้อสงสัยที่มักถามกันเสมอ
เมื่อเรามาถึงตอนสรุปของเรื่อง "ซื่อตรงในการใช้คำแห่งความจริง" ข้อสงสัยหรือคำถามอันควรแก่การที่เราจะเอาใจใส่เป็นพิเศษ เราทราบในบทเรียนตอนต้นแล้วว่าคำสัญญาไมตรีใหม่จะไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าพระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน (เฮ็บราย 9.15-17) เพราะฉะนั้นก่อนที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ บัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรีเดิมก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ข้อความต่อไปที่นำมาในที่นี้เป็นคำถามที่เกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งมักจะทำให้ผู้ที่ศึกษาพระคัมภีร์สับสน
คำสัญญาไมตรีเดิม | คำสัญญาไมตรีใหม่ | ||
บัญญัติของโมเซ | กิตติคุณของพระคริสต์ | ||
(สิ้นสุดบนไม้กางเขน) | (มีผลบังคับใช้ที่กางเขน) | ||
โกโลซาย 2.13-14 | เฮ็บราย 9.15-17 | ||
เอเฟโซ 2.13-16 | โรม 1.16-17 | ||
ดาวิด | คำตรัสสั่งอันยิ่งใหญ่ | ||
วันซะบาโต | คริสตจักรตั้งขึ้นแล้ว | ||
โจรบนไม้กางเขน | สานุศิษย์เรียกว่า "คริสเตียน" |
มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับโจรบนไม้กางเขน? บางคนรู้สึกสับสน คือ มีความรู้สึกว่า เราย่อมไม่ปฏิบัติตามคำตรัสสั่งที่ชัดเจนในพระคัมภีร์ใหม่ก็ได้ เพราะว่าเขาไม่สามารถเข้าใจว่ามีอะไรขัดขวางไม่ให้โจรบนไม้กางเขนได้รับความรอด จากตารางพอสังเขปข้างบนทำให้การเข้าใจผิดนั้นเข้าใจแจ่มแจ้งดียิ่งขึ้น เพราะว่าโจรบนไม้กางเขนมีชีวิตอยู่ก่อนที่พระเยซูคริสต์จะสิ้นพระชนม์ ฉะนั้นโจรผู้นั้นจึงอยู่ในสมัยที่คำสัญญาไมตรีใหม่ยังไม่มีผลใช้บังคับ เราทั้งหลายอย่างไรก็ตามอยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่ เพราฉะนั้นเราจะต้องปฏิบัติตามคำสัญญาไมตรีใหม่ การที่เราละเลยไม่ปฏิบัติตามพิสูจน์ว่าเราไม่รักพระเยซูคริสต์ เพราะพระเยซูกล่าวว่า "ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะประพฤติตามคำของเรา" (โยฮัน 14.23) เป็นที่น่าสังเกตว่าคำตรัสสั่งอันยิ่งใหญ่ยังไม่ได้ให้จนหลังจากที่พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนแล้ว (มาระโก 16.15-16)
มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับดาวิด คำถามใกล้ ๆ กันซึ่งมักจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการนมัสการซึ่งสอนไว้ในพระคัมภีร์ใหม่ซึ่งเราจะได้ศึกษากันต่อไป ไม่เป็นการถูกต้องในสมัยนี้ถึงการที่เราจะนมัสการพระเจ้าตามคำตรัสสั่งในพระคัมภีร์เดิม ในการที่เราจะสร้างเรือด้วยไม้โกเฟอร์เพื่อเราจะได้รับความรอดเหมือนกับที่พระเจ้าทรงตรัสสั่งกับโนฮานั้น ย่อมทำไม่ได้
การนมัสการตามที่พระเจ้าทรงตรัสสั่งไว้ในพระคัมภีร์ใหม่ ไม่ได้คลุมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยปฏิบัติในพระคัมภีร์เดิม การถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชา และหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งพบในพระคัมภีร์เดิม ไม่มีส่วนเกี่ยวพันกันในการนมัสการตามแบบพระคัมภีร์ใหม่ การที่ดาวิดนมัสการพระเจ้าตามที่ไม่ได้สอนไว้ในพระคัมภีร์ใหม่ ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่เราจะเรียนแบบอย่างดาวิด และควรสังเกตว่าดาวิดไม่ได้อยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่เหมือนกับเราทั้งหลายทุกวันนี้ ดาวิดได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างโดยพระคัมภีร์แล้วเราไม่สามารถปฏิบัติได้เหมือนกับดาวิดภายใต้พระคัมภีร์ใหม่ การที่จะทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัยในสมัยนี้ก็คือ การที่จะปฏิบัติตามอำนาจที่ได้ทรงสั่งไว้ในพระคัมภีร์ใหม่ สำหรับการปฏิบัติทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการนมัสการหรือการสั่งสอนก็ตาม