บทที่ 7

 

                                             บทที่7 

                   การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ

    อัครสาวกเปาโลสั่งผู้ปกครองที่เมืองเอเฟโซว่า "ข้าพเจ้าได้วางแบบอย่างไว้ให้ท่านทุกสิ่งแล้ว  เห็นว่าควรจะอุตส่าห์ทำการเพื่อจะได้ช่วยคนที่มีกำลังน้อยและควรจะระลึกถึงคำของพระเยซู ซึ่งพระองค์ตรัสว่า การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ" (กิจการ 20.35)  การให้จะได้รับพระพรเป็นการให้ชนิดไหน  พระคำของพระเจ้าได้สอนไว้ชัดเจนว่า  การให้ของเราจะต้องเป็นดังต่อไปนี้

1. ทุก ๆ คน
    1โกรินโธ 16.2  "ทุกวันอาทิตย์ให้พวกท่านทุกคนเก็บเงินผลประโยชน์ที่ได้ไว้บ้างเพื่อจะไม่ต้องเก็บเรี่ยไรเมื่อข้าพเจ้า" โปรดดู 2โกรินโธ 9.7 "ทุกคนจงให้ตามซึ่งเขาได้คิดหมายไว้ในใจมิใช่ด้วยนึกเสียดาย, มิใช่ด้วยขืนใจให้เพราะว่า  พระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี" (กิจการ 11.29,  พระบัญญัติ 16.16,  และเอ็กโซโด 25.2)  ข้อความเหล่านี้สอนว่าทุก ๆ คนควรให้ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือจะเป็นคนรวย, เด็กหรือผู้ใหญ่, ตัวคนเดียวหรือแต่งงาน,  เป็นผู้นำหรือผู้ตาม,  เป็นหม้ายหรือไม่ก็ตาม,  เป็นนักเรียนหรือมีอาชีพ  เรามักจะเน้นในเรื่องความรับผิดชอบของทุก ๆ คนในข้อต่าง ๆ เช่น กิจการ 2.38 "ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวแก่เขาว่า จงกลับใจเสียใหม่และรับบัพติศมาในนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคนเพื่อความผิดบาปของท่านจะทรงยกเสีย  แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์" (2ติโมเธียว 2.19, โรม 14.12)  แต่ทำไม่เน้น ข้อความใน 1โกรินโธ 16.2  ว่าเป็นความรับผิดชอบของทุก ๆ คน ต่อไปนี้อย่าให้เราพูดว่า เรื่องการถวายทรัพย์ "ให้เป็นหน้าที่ของคนมีเงินก็แล้วกัน"  หรือ "ใครมีก็ให้ก็แล้วกัน"  ในจำพวกเราไม่มีผู้ใดจนมากจนต้องยกเว้นได้
    2 โกรินโธ 8.4-5 "และยังได้วิงวอนเรามากมายขอให้เขาเข้าส่วนในการกุศลที่จะช่วยสิทธชน  ไม่เหมือนเราได้คาดหมายไว้  แต่ข้อสำคัญที่สุดได้ถวายตัวเขาเองแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า  แล้วได้ยอมตัวให้แก่เราตามชอบพระทัยพระเจ้า"  และก็ไม่มีผู้ใดรวยเกินไปจนไม่ต้องการพระพร  ซึ่งได้รับจากการให้  ไม่เป็นการยุติธรรมที่เราจะชื่นชมยินดีและหวังผลเลิศของคริสตจักรที่เราประจำอยู่  โดยที่เราไม่ร่วมแบกภาระและรับผิดชอบในด้านการเงินกับพี่น้องคนอื่น

2. ให้เป็นประจำสม่ำเสมอ
    "ทุกวันอาทิตย์ให้พวกท่านทุกคนเก็บเงินผลประโยชน์ที่ได้ไว้บ้าง เพื่อจะไม่ต้องเก็บเรี่ยไรเมื่อข้าพเจ้ามา"  (1โกรินโธ 16.2)  คำว่า "Kata" (ทุก ๆ คน) อยู่ในภาษากรีกขยายคำว่าสัปดาห์  จากข้อความนี้อธิบายให้เราเข้าใจว่าทุก ๆ สัปดาห์ที่เราได้รับผลกำไรเราควรให้  (นอกเหนือจากที่เราให้เป็นประจำ)  และมีเตรียมไว้พร้อมที่จะให้  ถ้าเราละเลยในการถวายทรัพย์ก็ถือว่าเป็นการบาปเช่นเดียวกับการทำพิธีระลึก (กิจการ 20.7)  "ในวันอาทิตย์เมื่อเราทั้งหลายประชุมกันทำพิธีหักขนมปัง  เปาโลก็สั่งสอนเขา เพราะว่าวันรุ่งขึ้นจะลาไปจากเขาแล้ว  ท่านได้กล่าวยืดยาวไปจนถึงเที่ยงคืน"  เพราะฉะนั้นการถวายทรัพย์ของเรามิได้ขึ้นอยู่กับการที่เราจะต้องเป็นฝ่ายถูกขอ   ถ้าเราไม่ถูกขอเราก็ควรให้หรือมิใช่  ตะกร้าส่งผ่านมาทางหน้าเราจำเป็นต้องให้  หรือมิใช่เพราะว่าเราชอบใจคำเทศนา  นอกจากนั้นถ้าเราจำเป็นต้องไปทำธุระหรือไปต่างจังหวัด ไม่สามารถไปร่วมประชุมกับพี่น้องได้ เราก็ยังมีความรับผิดชอบในการถวายทรัพย์อยู่นั่นเอง เหตุผลเพราะว่า
    1. เราจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ตาม  รายได้ที่เราเกิดผลประโยชน์นั้นเป็นของพระเจ้า
    2. รายจ่ายของคริสตจักรต้องจ่ายตามปกติ  ถ้าเรามีเหตุจำเป็นไม่อยู่  เราควรจะส่งเงินถวายของเราไปให้กับคริสตจักร  หรือฝากผู้อื่นให้ใส่ตะกร้าแทนเรา  หรือเมื่อเรากลับมาแล้วเราให้เพิ่มสมทบกับส่วนที่เราไม่อยู่  ด้วยวิธีวางโครงการประจำสัปดาห์ดังกล่าวจะช่วยให้เราไม่เป็นคนโลภและเห็นแก่ตัว  ยกอุทาหรณ์  เป็นการง่ายที่จะชำระเงินผ่อนส่งเป็นประจำโดยไม่ขาดตอน   ดีกว่าปล่อยทิ้งสะสมไว้มาก ๆ แล้วก็เก็บไว้จ่ายหลาย ๆ งวดรวมกันทีเดียว
    
3. ให้โดยมีจุดประสงค์
    1. การให้ของเราจะต้องเป็นไปตามที่เราคิดหมายไว้ในใจ (2โกรินโธ 9.7)  "ต้องตัดสินใจไว้ล่วงหน้า" มิใช่ด้วยความจำใจ  การให้คำทำด้วยความตั้งใจ, ตามใจปรารถนา, ด้วยใจมุ่งหมาย, กำหนดไว้ตามแผนแล้ว คิดไว้ก่อนล่วงหน้า,  ด้วยใจปรารถนา, ตัดสินใจล่วงหน้า,  มิใช่อุบัติเหตุ  ความรู้สึกในการให้ดังกล่าวเหมือนกับความรู้สึกต่อไปนี้ว่าอย่างไร  "ข้าพเจ้าจะให้เมื่อตะกร้าผ่านมาในวันอาทิตย์  จะเป็นเท่าไหร่ก็ช่างเถอะ"  หรือ "ข้าพเจ้าค่อยตัดสินใจทันทีเมื่อตะกร้าผ่านมา"  หรือ "ข้าพเจ้าจะให้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่ข้าพเจ้ามีในการฟังคำเทศนา"
    2. เราสัญญาสิ่งที่คิดหมายเอาไว้ได้  2โกรินโธ 9.5  "เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงคิดว่า สมควรจะวิงวอนให้พี่น้องเหล่านั้นไปหาท่านทั้งหลายก่อน, และตระเตรียมทานของท่านไว้ตามที่ท่านสัญญาแล้ว เพื่อทานนั้นจะมีอยู่พร้อมและจะป็นทานที่ให้ด้วยใจศรัทธา  มิใช่ด้วยฝืนใจให้"  Thayer ได้ให้คำนิยายคำว่า "สัญญาล่วงหน้า" ซึ่งปรากฎอยู่ในข้อนี้ ใจความว่า "ประกาศไว้ก่อนล่วงหน้า ...เพื่อประกาศก่อนที่จะสัญญา"  ถูกแล้ว การถวายทรัพย์ของพวกโกรินโธได้ประกาศไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว  ที่จริงเขาได้ประกาศล่วงหน้าไว้แล้วเป็นเวลา 1 ปี  2โกรินโธ 8.10-11 "และข้าพเจ้าจะออกความเห็นในเรื่องนี้เพราะเป็นการสมควรแก่ท่าน,  เหตุที่ท่านได้ตั้งต้นก่อนเขาเมื่อปีกลายแล้ว และมิใช่ตั้งตนจะกระทำเท่านั้น  แต่ว่ามีน้ำใจกระทำด้วย  เหตุฉะนั้นบัดนี้จงกระทำการนั้นให้สำเร็จ  เพื่อท่านเคยได้มีใจพร้อมอยู่แล้วฉันใด  ท่านจะได้ให้สำเร็จตามความสามารถของท่านฉันนั้น"  ยิ่งกว่านั้น 2โกรินโธ 9.1-2  "ด้วยว่าข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องเขียนหนังสือฝากไปถึงท่านทั้งหลายอีกเรื่องการสงเคราะห์สิทธชนเพราะข้าพเจ้ารู้แล้วว่าใจของท่านพร้อมอยู่แล้ว  ข้าพเจ้าจึงพูดอวดท่านแก้พวกมากะโดเนียว่า  พวกอะฆายะได้จัดแจงพร้อมแล้วตั้งแต่ปีกลาย  และใจร้อนรนของท่านทั้งหลายเป็นที่เร้าใจคนเป็นอันมากในพวกเขา"   ชี้ให้เห็นว่าคำมั่นสัญญาของพวกเขาให้อย่างเหลือล้นด้วย  การให้ของพวกคริสเตียนยุคแรกที่ได้สัญญาไว้ก่อนล่วงหน้าเปรียบเทียบกับการให้ของคริสเตียนในยุคนี้อย่างไร?  "ข้าพเจ้าจะไม่บังคับตัวเองว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ล่วงหน้า"  หรือข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะต้องบอกล่วงหน้าว่าจะต้องให้เท่านั้นเท่านี้ล่วงหน้า"  หรือ "ข้าพเจ้าไม่สามารถให้คำสัญญาได้เพราะข้าพเจ้าไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร" หรือ "ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการสัญญาถวายล่วงหน้า"
    3. เราควรรักษาและกระทำตามคำสัญญาของเรา  (2โกรินโธ 8.10-11) คำว่า "กระทำตาม" ในข้อนี้ ในภาษากรีกมาจากคำว่า "epiteleo" ซึ่งหมายความว่า นำไปสู่ความเร็จ, บริบูรณ์, ครบถ้วน

4. ให้ด้วยความยินดี
    "ทุกคนจงให้ตามซึ่งเขาได้คิดหมายเอาไว้ในใจ  มิใช่ด้วยนึกเสียดาย มิใช่ด้วยขืนใจให้ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี"  (2โกรินโธ 9.7)  คำว่า "ยินดี"  ในที่นี้มาจากภาษากรีกจากคำว่า "hilaros" ซึ่งแปลว่า ปลื้มใจ  ฉะนั้นเปาโลจึงหนุนใจให้เรามีความปลื้มใจยินดีตลอดชั่วชีวิตของเราในการให้  เพราะฉะนั้นเราจะถวายมิใช่เพื่อให้เราเดือดร้อน  แต่เราจะถวายจนกว่าเราจะได้รับความยินดีเกิดขึ้น  พวกชาวมากะโดเนียมีความยินดีเช่นนั้น  (2โกรินโธ 8.1-4)  พวกเขาเฝ้ารอการให้ด้วยความยินดี คือเต็มใจให้  โปรดดู เอ็กโซโด 25.2  "จงสั่งชนชาติยิศราเอลให้นำของมาถวายแก่เรา  ของนั้นให้รับมาจากทุก ๆ คนที่เต็มใจถวาย" (บทเพลงสรรเสริญ 110.3)  ภรรยาจะมีความยินดีจากการที่สามีนำของขวัญมาให้โดยกล่าวดังไปนี้หรือไม่?  "ฉันรู้ ถ้าฉันไม่ซื้ออะไรมาให้เธอ เธอก็จะไม่รักฉัน"   มีหลายคนให้พระเจ้าด้วยความรู้สึกที่ไม่เต็มใจให้

5. คัดเลือกเอาไว้ให้อย่างดีเยี่ยม
    1. พระเจ้าต้องการสิ่งยอดเยี่ยมเป็นที่หนึ่ง  (เอ็กโซโด 20.1-6)   มัดธาย 6.33 "แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน  แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้"  เราเป็นของคริสตจักร   สามีเป็นของภรรยา  ภรรยาเป็นของสามี  นั่นหมายความเขามีสิทธิก่อนใครอื่นหมด  คือชีวิตของภรรยาเป็นที่หนึ่งสำหรับสามี  และชีวิตของสามีเป็นที่หนึ่งของภรรยา เดี๋ยวนี้ เราเป็นของคริสตจักร เพราะฉะนั้นควรเป็นที่หนึ่งในชีวิตของเรา  พระเจ้าประสงค์ผลที่ผลิตแรก ๆ (สุภาษิต 3.9)  หญิงหม้ายใน 1พงศาวดารกษัตริย์ 17.3-13, 15-16  "ท่านลุกขึ้นไปเมืองซาเล็บตา,  เมื่อมาถึงประตูเมืองแล้ว  ที่นั่นมีหญิงหม้ายคนหนึ่งกำลังเก็บฟืนอยู่  ท่านจึงร้องเรียกเขาว่า ขอน้ำในภาชนะให้ฉันดื่มสักหน่อยเถิด   เมื่อเขากำลังไปเอาน้ำนั้น  ท่านร้องบอกหญิงนั้นว่า ขอหยิบขนมปังติดมือมาให้ฉันสักหน่อยด้วย  หญิงนั้นจึงว่าพระยะโฮวาพระเจ้าของท่านทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด  ข้าพเจ้าไม่มีขนมปังสักอันหนึ่งเลย  มีแต่แป้งสักกำหนึ่งในหม้อและน้ำนมนิดหน่อยในขวด  และนี่แน่ะฉันเก็บฟืนสองดุ้นเพื่อจะไปทำขนมปังสำหรับดิฉันและบุตร  เมื่อเรากินหมดแล้วเราคงอดตาย  และเอลียาจึงกล่าวแก่นางว่า อย่ากลัวเลย  จงทำตามที่เจ้าได้กล่าวนั้น แต่จงทำขนมอันเล็ก ๆ มาให้ฉันก่อน แล้วจึงทำสำหรับเจ้าและบุตร"  นางก็ได้กระทำตามคำขอของเอลียา  เอลียากับนางนั้นและครอบครัวก็ได้กินต่อมาช้านาน  แป้งในหม้อนั้นมิได้หมดไป  และน้ำมันในขวดมิได้ขาดตามคำซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงตรัสแก่เอลียานั้น"
    ลูกา 21.1-3  "พระองค์ทอดพระเนตรเห็นคนมั่งมีทั้งหลายนำเงินมาใส่ในตู้เก็บเงินถวาย  พระองค์ทรงเห็นหญิงม่ายคนหนึ่งเป็นคนจน  นำสตางค์แดงสองสตางค์มาใส่ด้วย  พระองค์ตรัสว่า  เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่าหญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้มากกว่าคนทั้งปวงนั้น"  จะเป็นตัวอย่างได้ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้
    2. อุทาหรณ์ สมาชิกคริสตจักรเป็นจำนวนมากเอาพระเจ้าไว้สุดท้ายในการถวายก็เหมือนกับชายคนหนึ่งที่ซื้อชุดสากลสำหรับตัวเองราคา  1,000 บาท รองเท้าราคา 200 บาท  เสื้อเชิ้ตราคา 500 บาท  เน็คไทราคา 150 บาท  ขณะเดินทางกลับบ้านเขาเห็นเม็ดกระดุมที่วางขายแบกะดินราคา 3 บาท  ซื้อไปให้ภรรยาที่บ้าน  เมื่อกลับถึงบ้านสามีก็หยิบ  สิ่งของที่ตนซื้อออกมาให้ภรรยาดู  เสร็จแล้วเขาก็หยิบกระดุมที่ซื้อมาให้เธอราคา 3 บาท  พลางก็บอกกับเธอว่า "ฉันรักเธอ"  ท่านคิดไหมว่า เขาหลอกลวงภรรยา?  ใช่แน่นอน  ปัจจุบันนี้เราไม่ทำเช่นนั้นกับพระเจ้าดอกหรือ?  เราซื้อที่ดิน  โทรทัศน์  รถยนต์  ตู้เย็น  วิทยุ  ตู้เสื้อผ้า  ไปเที่ยวสนุก  ซื้อโน่นซื้อนี่  เสร็จแล้ววันอาทิตย์เรากล่าวกับพระเจ้าว่า "นี่แหละข้าพเจ้าแสดงความรักต่อพระองค์"  ท่านคิดว่าคนเช่นนั้นหลอกลวงพระเจ้าไหม?  ใช่แน่นอน
    3. ข้อทดสอบ ผู้อารักขาที่สัตย์ซื่อพยายามปรับการดำรงชีวิตของเขาให้สัมพันธ์กับการถวายทรัพย์ของเขา  ในทางตรงกันข้าม  ผู้อารักขาที่ไม่สัตย์ซื่อจะปรับการถวายทรัพย์ของเขาให้เข้ากับการดำรงชีวิตของเขา  ท่านเป็นผู้อารักขาที่สัตย์ซื่อไหม?  การที่เราจะกล่าวว่า เราให้น้อยกว่า 10% ก็เหมือนกับเราสนับสนุนว่า เราสามารถทำได้น้อยกว่าภายใต้คำสัญญาที่ดีกว่า  เฮ็บราย 8.6 "แต่ว่าพระองค์ได้ทรงเป็นคนกลางแห่งคำสัญญาไมตรีอันประเสริฐกว่าเก่า  เพราะได้ทรงตั้งขึ้นโดยคำสัญญาดีกว่าเก่าเท่าใด  บัดนี้พระองค์ได้ตำแหน่งอันเลิศกว่าเก่าเท่านั้น"  อย่างไรก็ตาม  หลักการของพระเจ้าก็คือว่า  ยิ่งมีพระพรหรือสิทธิมากความรับผิดชอบก็ย่อมมีมากขึ้น (ลูกา 12.48)
    4. ต่อไปนี้เป็นคำถาม ซึ่งถ้าตอบโดยพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจะช่วยให้บุคคลรู้ว่าการถวายของเธอหรือท่านมากหรือน้อย
        (1) เมื่อข้าพเจ้าถวายพระเจ้าแล้ว มีเงินเหลือเท่าไร?
        (2) ข้าพเจ้ามีโครงการถวายทรัพย์ตลอดทั้งปีอย่างไร?
        (3) ข้าพเจ้าควรถวายอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบสิ่งของที่เราจับจ่าย?
        (4) ข้าพเจ้าถวายต่อพระเจ้าด้วยจำนวนเงินเท่ากับที่เคยให้เมื่อ 2 ปีก่อน, 5 ปีก่อน ฯลฯ  แม้ว่าข้าพเจ้ามีรายได้มากกว่าปีที่แล้ว ๆ มา?

6. ผลกำไรที่ได้รับ
    1. เราจะได้รับผลกำไรจากการถวายทรัพย์ของเรา  นักกีฬาได้พละกำลังเพิ่มขึ้นโดยการออกกำลัง  คนที่ค้าขายได้กำไรจากการลงทุน  ชาวไร่จะเก็บเกี่ยวผลจากไร่ก็โดยการที่หว่านพืช นักธุรกิจจะขยายกิจการใหญ่ขึ้นก็โดยการใช้เงินมากขึ้นในการโฆษณา ลูกจ้างที่ก้าวหน้ามากกว่าเพื่อน  คือลูกจ้างที่ใช้เวลา 9 ชั่วโมง  เพื่อจะได้เงิน 8 บาทและไม่ทำงาน 8 ชั่วโมงเพื่อเงิน 9 บาท  เรือที่จอดเทียบท่ามิใช่ขนสินค้าที่มีค่าเข้ามา
    2. มีข้อพระคัมภีร์หนุนใจว่า  เราไม่ต้องการขาดทุน  แต่เราจะได้กำไรจากการให้   ชายยากจนคนหนึ่งถูกถามว่า ทำไมคุณจึงถวายมาก  ชายคนนั้นตอบว่า "ผมยิ่งตักออกมากเท่าใดพระเจ้าก็จะใส่เข้าไปแทน  เพราะพระองค์มีพลั่วอันใหญ่กว่าของผม"  ข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้จะสนับสนุนความจริงดังกล่าว  2โกรินโธ 9.6  "แต่นี่แหละ คนที่หว่านเล็กน้อยจะเกี่ยวเก็บเล็กน้อย  แต่คนที่หว่านมากจะเกี่ยวเก็บมาก"  สุภาษิต 3.10 "เมื่อกระทำเช่นนั้นแล้วยุ้งฉางของเจ้าจะเต็มบริบูรณ์และถังของเจ้าจะเปี่ยมล้นด้วยน้ำองุ่นสด"   มาลาคี 3.10 "พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสต่อไปว่า จงเอาบรรดาส่วนสิบชัดหนึ่งนั้นมาส่ำสมไว้ในคลัง  เพื่อจะมีโภชนาหารไว้ในวิหารของเรา  และจงมาลองดูเราในเรื่องนี้ ดูทีหรือว่า  เราจะเปิดบัญชรท้องฟ้าให้เจ้าและเทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการหรือไม่"   ฟิลิปปอย 4.19 "และพระเจ้าของข้าพเจ้าจะประทานสิ่งสารพัดตามที่พวกท่านต้องการนั้นจากทรัพย์อันรุ่งเรืองของพระองค์ให้พระเยซูคริสต์"
    3. ศึกษาเป็นพิเศษ  ลูกา 6.38  "จงแจกปันให้เขา  และเขาจะแจกปันให้ท่านด้วย  เขาจะตวงด้วยทะนานถ้วนยัดสั่นแน่นพูนล้นใส่ในตักของท่าน  เพราะว่าท่านจะตวงให้เขาด้วยทะนานอันใด  เขาจะตวงให้ท่านด้วยทะนานอันนั้น"  จากข้อความนี้ให้เราพิจารณาดูดังต่อไปนี้
    (ก) หลักการในการได้รับผลกำไร คือ "แจกปันให้ เขาจะแจกปันให้"
    (ข) อัตราส่วนในการได้รับผลกำไร คือ "จะตวงด้วยทะนานอันใด เขาจะตวงให้เท่านั้น"
    (ค) ถ้ายัดใส่สั่นแน่พูนล้น เขาก็จะตวงใส่ด้วยยัดใส่สั่นแน่นพูนล้น
    (ง) สิ่งที่ท่านชั่งให้เขาเท่าไร  ท่านก็จะได้รับคืนเท่านั้น
 

ตอบคำถามแบบทดสอบ บทที่ 7  คลิกที่นี่

บทที่8