บทที่ 7
บทที่7
คริสตจักรแท้
ความจริงที่น่าประทับใจอันหนึ่งซึ่งได้สำแดงไว้ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นก็คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของบรรดาคริสเตียนเริ่มแรกทั้งหลายในการนมัสการและการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า พวกคริสเตียนเหล่านั้นไม่เพียงแต่เป็นอันเดียวกันในการนมัสการอย่างเดียวเท่านั้น เขาทั้งหลายยังได้เป็นอันเดียวกันในคำสอนอีกด้วย (กิจการ 2.24) ความจริงอันควรแก่การยกย่องทั้งประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ด้านพระคัมภีร์ก็คือว่า ในสมัคอัครสาวกไม่มีการแตกแยกเป็นนิกายหนึ่งนิกายใด และบรรดาคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ทั้งหลายก็อยู่ในความสามัคคีธรรมซึ่งกันและกันทั่วโลก (1โยฮัน 1.7, 2โกรินโธ 8.18)
เหตุที่ทำให้บรรดาคริสเตียนทั้งหลายเป็นอันเดียวกันก็เพราะคำสอนของพวกอัครสาวก ตัวอย่างเมื่อตอนที่เปาโลได้ไปที่กรุงโรม เขาได้ประกาศกิตติคุณอันเดียวกัน ตามที่เขาได้เคยประกาศแล้วที่เอเฟโซ, ฆะลาเตีย, โกรินโธ และตลอดทั่วโลก เพราะฉะนั้นผลจากคำสอนนี้จึงไม่มีการแตกแยกเป็นนิยาย (กิจการ 15.26, โรม 15.19) สำหรับข้อความอันนี้ย่อมเป็นความจริงแก่บรรดาผู้สอนอื่น ๆ ที่ได้รับการดลใจด้วย เพราะได้รับการทรงนำโดยตรงจากพระเจ้าเขาจึงไม่สอนสิ่งที่ขัด หรือปฏิบัติในสิ่งนอกคอก จึงไม่เกิดนิกายใด ๆ ซึ่งเกิดจากคำสอนของเขา (โยฮัน 16.13, 14.26, 2ติโมเธียว 3.16)
ในพระคัมภีร์ใหม่เรามิได้อ่านถึงเรื่อง "นิกาย" ต่าง ๆ มากมาย แต่เราอ่านถึงเรื่องคริสตจักร ตัวอย่างเช่น ในกิจการ 2.47 เราอ่านว่า "ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งหลายซึ่งกำลังจะพ้นจากความผิดบาปของตน มาเข้ากับจำพวกสาวกทวีขึ้นทุกวัน" พระเยซูได้กล่าวอีกว่า "บนศิลานี้เราจะตั้งคริสตจักรของเราไว้ และประตูแห่งความตายจะมีชัยชนะต่อคริสตจักรนั้นหามิได้" (มัดธาย 16.18)
ลักษณะที่เด่นของคริสตจักรตามแบบพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่มีความแตกต่างกับวงการแตกแยกของนิกายต่าง ๆ ในบรรดาโลกแห่งศาสนาปัจจุบันนี้ ในบทเรียนนี้เราจะได้ศึกษาเกี่ยวกับนิกายเป็นจำนวนร้อย ๆ ได้บังเกิดขึ้นได้อย่างไร, จะได้ศึกษาย่อ ๆ ไปถึงนิกายสมัยใหม่ และจะได้ศึกษาถึงเรื่องคริสตจักรอันแท้ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของอัครสาวก
การเป็นอันหนึ่งอันเดียวเป็นรากฐาน
ความจริงที่ทำให้บรรดาคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในสมัยแรกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในคริสตจักร ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น การเป็นอันหนึ่งอันเดียวนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำอธิษฐานของพระเยซู และเกิดจากคำสอนอันเที่ยงตรงของอัครสาวกบนห้องชั้นบน พระเยซูคริสต์ได้ทรงอธิษฐานอย่าให้บรรดาผู้ติดตามของพระองค์แตกแยกเป็นนิกายต่าง ๆ พระเยซูได้กล่าวเกี่ยวข้องกับอัครสาวกว่า "ข้าพเจ้ามิได้อธิษฐานเพื่อคนเหล่านี้พวกเดียว แต่เพื่อคนทั้งหลายที่วางใจในข้าพเจ้าเพราะคำของเขา เพื่อเขาทั้งหลายจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนพระองค์คือพระบิดาสถิตอยู่ในข้าพเจ้า และข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์ เพื่อเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์และกับข้าพเจ้าด้วย เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้ามา" (โยฮัน 17.20-21) เช่นเดียวกับพระเจ้ากับพระเยซูทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระเยซูได้สอนให้บรรดาศิษย์ของพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เหตุผลของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เหตุผลของการที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพระเยซูกล่าวว่า "เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้ามา" (โยฮัน 17.21) เหตุผลอันนี้ย่อมเห็นได้ชัดในสมัยนี้มากกว่าสมัยก่อน ในห้องที่ซึ่งใหญ่พอที่จะมีหมู่ประชุมแห่งหรือสองแห่งดีกว่าที่จะมีนิกายต่าง ๆ ซึ่งแตกแยกกันและกัน ต่างก็ไม่ขึ้นแก่กัน และเลี้ยงนักเทศน์ของตนเอง และนมัสการในอาคารคนละแห่ง โลกกำลังจะตายในความบาปแต่เขากำลังใช้เงินไปอย่างเปล่าประโยชน์ และก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ที่จริงแล้วความก้าวหน้าของพระกิตติคุณควรเป็นความเอาใจใส่ของบรรดาผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาทุกคน
ถ้าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่พระเจ้าทรงประสงค์บังเกิดขึ้นท่ามกลางผู้เหล่านั้นที่อ้างว่าเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ นักเทศน์ 4 ใน 5 คนก็คงจะย้ายไปยังถิ่นอื่น ๆ ที่พระกิตติคุณยังไม่ได้ประกาศ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างในศตวรรษแรกจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทุกคนหันกลับมาปฏิบัติตามแบบของคริสตจักรพระคริสตธรรมใหม่ ซึ่งพระเยซูคริสต์และอัครสาวกได้กำหนดแบบอันนี้เอาไว้
หลักฐานของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
วิธีที่จะศึกษาเรื่องคริสตจักรตามแบบพระคริสตธรรมใหม่ ข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับการเป็นหนึ่งเดียวกันในวงการศาสนาได้นำเอามาอ้างไว้ต่อไปนี้ เพื่อชี้ให้เห็นความจริง พระคัมภีร์ชี้ให้เห็นอย่างชัดทีเดียวว่า พระเยซูมิได้ตั้งคริสตจักรหรือนิกายหลายคริสตจักรขึ้น แต่ชี้ให้เห็นว่าบรรดาคริสเตียนในศตวรรษแรกเป็นประดุจกายเดียวกันในคริสตจักร
โกโลซาย 1.18 "พระองค์ทรงเป็นศีรษะของกายคือคริสตจักร"
เอเฟโซ 1.22-23 "และได้ทรงตั้งพระองค์ไว้เป็นประมุขเหนือสิ่งสารพัดแห่งคริสตจักร ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์"
เอเฟโซ 4.4-5 "มีกายอันเดียวและมีพระวิญญาณองค์เดียว เหมือนมีความหวังใจอันเดียวซึ่งเกี่ยวกับที่ท่านทั้งหลายทรงถูกเรียกนั้น"
1โกรินโธ 12.13 "เราทั้งหลายได้รับบัพติศมาแต่พระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายอันเดียว"
1โกรินโธ 1.10 "ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าวิงวอนท่านทั้งหลายในพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ให้ท่านทั้งหลายปรองดองกันอย่าถือพวก ถือคณะ แต่ให้ท่านทั้งหลายเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน"
มัดธาย 16.18 "บนศิลานี้เราจะตั้งคริสตจักรของเราไว้ และประตูแห่งความตายจะเอาชนะก็หามิได้"
กิจการ 2.47 "องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งหลาย ซึ่งกำลังจะพ้นจากความผิดบาปของตนเข้ากับจำพวกสาวกทวีขึ้นทุกวัน ๆ"
คริสตจักรที่พระเยซูทรงสร้างได้ถูกพูดถึงในลักษณะเอกพจน์ตลอดทั้งพระคัมภีร์ (กิจการ 12.1, 20.28, 1โกรินโธ 12.28, ฆะลาเตีย 1.13, เอเฟโซ 3.10, 21, 5.32)
การใช้คำว่า "คริสตจักร" ในรูปพหูพจน์ก็เพื่อบ่งความถึงคริสตจักรท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วยที่ประชุมหลายแห่งด้วยกัน เช่น "คริสตจักรทั้งหลายแห่ง ณ มณฑลฆะลาเตีย" "คริสตจักรทั้งเจ็ดในมณฑลอาเซีย" (ฆะลาเตีย 1.2, วิวรณ์ 1.4)
มักมีเหตุผลว่าพระเยซูกล่าวคลุมไปถึงคณะต่าง ๆ เมื่อพระองค์ทรงกล่าวว่า "เราเป็นต้นองุ่นท่านทั้งหลายเป็นกิ่ง..." (โยฮัน 15.5-6) คนที่ไม่มีอคติจะอ่านเข้าใจไปในทางตรงข้ามทีเดียวว่า พระเยซูมิได้สอนอย่างนั้น ข้อความในประโยคต่อ ๆ ไปจะอธิบายให้ทราบว่าพระเยซูหมายถึงสานุศิษย์ทั้งหลายที่สนิทอยู่กับพระองค์มากยิ่งกว่าหมายถึงนิกายต่าง ๆ เหตุผลอีกอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือว่า ไม่ว่าจะเป็นคณะโปรเตสแตนท์สมัยใหม่หรือคณะคาธอลิคก็ตาม เราไม่สามารถอ่านพบในพระคัมภีร์ว่าคณะหรือนิกายต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยคำสัญญาไมตรีใหม่
ตามที่เราอ่านข้อความเหล่านี้และข้ออื่น ๆ ก็ไม่มีชื่อของนิกายเหล่านี้เลย โปรดระลึกถึงคำอธิษฐานของพระเยซูเมื่อพระองค์กำลังใกล้เงาแห่งความตายบนไม้กางเขน "เพื่อเขาทั้งหลายจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน..." (โยฮัน 17.21) เพราะฉะนั้นอย่าให้คนหนึ่งคนใดอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าที่มีนิกายมากมายทุกวันนี้ เพราะเมื่อเขาทำดังนี้แล้ว คำอธิษฐานของพระเยซูก็ไม่มีความหมายในทุกวันนี้ซึ่งไม่เหมือนกับสมัยของอัครสาวก (กิจการ 4.32)
ลักษณะของคริสตจักรของพระคริสต์
เมื่อพระเยซูทรงสถาปนาคริสตจักร พระองค์ได้แสดงให้เราเห็นถึงลักษณะอันเด่นชัดหลายสิ่งด้วยกัน เพื่อให้เราเข้าใจง่าย เราได้เรียนแล้วดังตัวอย่างเช่น คริสเตียนใหม่ศตวรรษแรกเขากระทำพิธีระลึกทุกวันต้นสัปดาห์ และเขาได้ร้องเพลงด้วยเสียงถวายนมัสการพระเจ้า และเขาเหล่านั้นได้รับบัพติศมาเพื่อ "ความผิดบาปจะยกเสีย" ลักษณะอื่น ๆ ของคริสตจักรได้บ่งให้เห็นชัดในข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ อีกมากมาย
1. ไม่มีผู้ใดอาจ "ร่วมกับคริสตจักร" หรือสมัครเป็นสมาชิกได้
ในบทที่ห้าเราเรียนรู้หลังจากที่บุคคลได้รับบัพติศมาถูกต้องตามพระคัมภีร์แล้ว บุคคลนั้นก็นับว่าเป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นผู้ที่ "อยู่ในพระคริสต์" (โยฮัน 3.5, โรม 6.3) เปาโลได้กล่าวว่า "เหตุว่าคนทั้งหลายที่รับบัพติศมาเข้าสนิทกับพระคริสต์แล้ว ก็ได้ตกแต่งตัวด้วยพระคริสต์" (ฆะลาเตีย 3.27) ดังนั้นผู้ที่ได้ปฏิบัติตามแบบฉบับในสมัยของพระคริสตธรรมใหม่มิได้ร่วม หรือ "สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคริสตจักร" เหตุผลก็คือว่าเมื่อบุคคลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข และเมื่อได้ถูกยกบาปแล้ว ทันทีองค์พระผู้เป็นเจ้าก็จะเพิ่มผู้นั้นเข้าสู่คริสตจักรของพระองค์ และนับว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ด้วย ผู้เขียนหนังสือกิจการได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน คือ "ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งหลายซึ่งกำลังจะพ้นจากความผิดบาปของตนเข้ากับจำพวกสาวกทวีขึ้นทุกวัน ๆ" (กิจการ 2.47)
ความคิดที่ออกคะแนนเสียงเพื่อให้บุคคลเป็นสมาชิกของคริสตจักรตามพระคริสตธรรมใหม่ หรือออกคะแนนเสียงตัดสัมพันธ์บุคคลออกจากการเป็นสมาชิกนั้น มิได้เป็นหลักปฏิบัติซึ่งใช้กันในยุคแรก ตัวอย่างการปฏิบัติเช่นนี้ เราพบในพระคัมภีร์อันมีบุคคลหนึ่งมีนามว่า ดิโอเตรเฟ ท่านอัครสาวกโยฮันได้ปรับโทษท่านผู้นี้อย่างหนักในการกระทำชั่วของเขา ซึ่งโยฮันได้บรรยายไว้ดังต่อไปนี้ "มิหนำซ้ำตัวเขาเองยังไม่รับรองพวกพี่น้องนั้น และยังเกลียดกัน คนที่ใคร่จะรับรองเขาและคัดเขาออกเสียจากคริสตจักร" (3โยฮัน 1.9-10) ในคริสตจักรพระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจมิใช่มนุษย์เป็นผู้ที่จะยอมรับมนุษย์หรือคัดมนุษย์ออกจากคริสตจักร
2. ไม่มีคำสอนของมนุษย์
ลักษณะที่สำคัญของคริสตจักรของพระคริสตธรรมใหม่อีกอันหนึ่งก็คือ คริสตจักรมิได้ผูกพันโดยคำสอนของมนุษย์ คู่มือคำสอนของคริสตจักร หรือหนังสืออื่นใดซึ่งผลิตโดยมนุษย์
สมาชิกคริสตจักรพระคริสตธรรมใหม่ในสมัยเริ่มแรกใช้พระคัมภีร์เป็นกฎบรรทัดฐานในการควบคุมความเชื่อและการปฏิบัติโดยไม่ยอมรับคำสั่งสอนของมนุษย์อื่นใดเลย ตลอดจนกระทั่งการนมัสการก็ดี ในพระคัมภีร์เราไม่อาจพบชื่อคำสอนของมนุษย์กล่าวไว้เลย คำสอนที่ปรากฏโฉมหน้าเป็นครั้งแรกคือ คำสอนไนเซียน คำสอนนี้ได้บังเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 325 ซึ่งเขียนโดยมนุษย์มิใช่เป็นผู้ที่ได้รับการดลใจ ข้อเขียนเหล่านั้นมักจะถูกเรียกว่า "คำสอนของจำพวกอัครสาวก" ถึงแม้ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอัครสาวกเลย ผู้ทรงคุณวุฒิได้ลงความเห็นว่า คำสอนเหล่านั้นได้เกิดขึ้นหลายร้อยปีหลังจากสมัยของอัครสาวก
3. ลักษณะที่บอกชัดคือความถ่อมสุภาพ
ความถ่อมสุภาพเป็นลักษณะที่สำคัญอันหนึ่งสำหรับสมาชิกของคริสตจักร แม้ว่าผู้ประกาศกิตติคุณจะยอมรับนับถือจากคนทั่วไป แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้ประกาศเหล่านั้นจะยกย่องตนเองเหนือกว่าสมาชิกคริสตจักรที่ซื่อสัตย์อื่น ๆ และไม่มีการยกย่องเป็น "นักบวช" ในลูกา 22.25-26 พระเยซูกล่าวว่า "กษัตริย์ของชาวต่างประเทศย่อมกดขี่บังคับเขา และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเขาเรียกว่าเจ้าคุณ แต่พวกท่านจะหาเป็นอย่างนั้นไม่ แต่ผู้ใดในพวกท่านเป็นพี่ก็ให้เป็นเหมือนน้อง และผู้ใดเป็นนายให้ผู้นั้นเป็นเหมือนคนรับใช้" และในมัดธาย 23 พระเยซูได้ตำหนิพวกฟาริซายอย่างแรงที่ชอบใส่เสื้อคลุมยาว ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น แสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนามากยิ่งกว่าผู้ใด ในข้อความเหล่านี้พระเยซูได้กล่าวว่า "เขากระทำการของเขาเพื่อให้มนุษย์เห็นเท่านั้น ... พู่ห้อยเสื้อของเขาก็ขยายใหญ่ออกไป เขาชอบนั่งที่สูงในการเลี้ยงและในธรรมศาลา กับชอบให้คนคำนับเรียกเขาที่กลางตลาดว่า "ท่านอาจารย์" ท่านทั้งหลายอย่าใคร่ให้เขาเรียกว่า "อาจารย" เลย ด้วยท่านมีอาจารย์แต่ผู้เดียว ท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันทั้งหมด และอย่าใคร่ให้ผู้ใดในแผ่นดินโลกเรียกตนว่า "บิดา" เพราะท่านมีพระบิดาแต่ผู้เดียว คือผู้ที่สถิตอยู่ในสวรรค์" (มัดธาย 23.5-9)
ข้อความในมัดธาย บทที่ 23 ข้อ 5-9 ในตอนท้ายได้กล่าวโทษผู้ที่ใช้คำว่า "บิดา" เป็นตำแหน่งในทางศาสนา แต่ข้อความนี้มิได้กล่าวโทษผู้ที่เป็นบิดามารดาของตนเองในทางเนื้อหนัง ดังตัวอย่างที่เรามักคุ้นคือ เอเฟโซ 6.2 และกิจการ 16.3, 7.4 "จงนับถือบิดามารดาของตน" สิ่งที่เราเห็นได้ชัดในหนังสือมัดธาย 23 ซึ่งพระคัมภีร์กล่าวโทษผู้ที่ใช้ตำแหน่งในทางศาสนาเช่นเดียวกับพวกฟาริซาย คำว่า "บริสุทธิ์" (Reverend) หรือในภาษาไทยเรามักเรียกว่า "อาจารย์" ซึ่งคำว่าบริสุทธิ์นี้มิได้ใช้ปฏิบัติกันในพระคัมภีร์ คำว่าบริสุทธิ์นี้มีใช้เพียงแห่งเดียวซึ่งใช้เพื่อกล่าวถึงพระเจ้า (บทเพลงสรรเสริญ 111.9)
ในกิจการบทที่ 10 เราพบว่าเปโตรไม่ยอมให้มนุษย์ก้มกราบเขาเป็นการเกินเกียรติยศเมื่อโกระเนเลียวได้คุกเข่าลงแทบเท้าของเปรโตร ท่านได้กล่าวว่า "จงยืนขึ้นเถิด ข้าพเจ้าเองก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน" (กิจการ 10.25-26) แม้ว่าทูตสวรรค์ก็ไม่ทรงอนุญาตให้มนุษย์ก้มกราบ (วิวรณ์ 19.10) การถ่อมสุภาพอย่างนั้นจะมีคุณค่าเพื่อพระเยซูคริสต์มากทุกวันนี้
ชื่อที่ใช้เรียกพลไพร่ของพระเจ้า
ลักษณะของคริสตจักรพระคริสตธรรมใหม่อีกประการหนึ่งคือ ชื่อที่ใช้เรียกบรรดาพลไพร่ของพระเจ้า บ่อยครั้งพลไพร่ของพระเจ้ามักถูกเรียกว่าเป็น "คริสเตียน" (กิจการ 11.26) แต่ไม่เคยถูกเรียกว่าเป็นคริสเตียนพิเศษ "ชนิด" หนึ่งชนิดใด พลไพร่ของพระเจ้าบางทีก็ถูกเรียกว่าเป็น "บุตรของพระเจ้า" (ฆะลาเตีย 3.26) คริสเตียนเริ่มแรกบ่อยครั้งมักถูกเรียกว่า "สิทธิชน" (saints) (โรม 1.7) เกี่ยวกับคำนี้ต้องทำความเข้าใจว่า คำนี้มิได้ใช้สำหรับสาวกพิเศษซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่คำว่าสิทธิชนนี้ใช้กับผู้ที่เป็นคริสเตียนทุกคน ในโยฮัน 15.8 พวกเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็น "ศิษย์" (disciples) ซึ่งหมายถึงผู้ที่เรียนรู้ บรรดาคริสเตียนเริ่มแรกทั้งหลายได้ชื่ออีกว่าเป็น "ปุโรหิต" (priests) คำนี้มิใช่ใช้กับชั้นตำแหน่งในคริสตจักร แต่ใช้เรียกบรรดาคริสเตียนทั้งหลายทั่วทุกแห่ง (1เปโตร 2.5-9) แต่ละคนเป็นปุโรหิตในฐานะที่ทุกคนอาจที่จะอธิษฐานต่อพระเจ้าได้โดยผ่านทางคนกลางคือพระเยซูคริสต์เจ้า (1ติโมเธียว 2.5) และอาจจะถวาย "เครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่" โดยการถวายตัวเพื่อพระกิตติคุณ (โรม 12.1) เพราะพลไพร่ทุกคนจะต้องเป็นผู้ถ่อมลง เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีชื่ออีกว่า "พี่น้อง" (ฆะลาเตีย 6.1)
ในสมัยของพระคริสตธรรมใหม่คริสตจักรไม่มีชื่อสำหรับตัวเอง นอกจากใช้ชื่อขององค์พระผู้เป็นเจ้า ในหนังสือโรมเราอ่านว่า "...คริสตจักรของพระคริสต์ขอคำนับมายังท่านทั้งหลาย" (โรม 16.16) ประโยคนี้มิใช่เป็นชื่อเฉพาะแต่เป็นประโยคที่บรรยายให้เราทราบว่าคริสตจักรนั้นเป็นของพระเยซูคริสต์เจ้า เหมือนกับที่เราพูดว่า "เสื้อผ้าของนายแก้ว" หรือ "บ้านของดาวิด" (ลูกา 1.27) ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อใช้บรรยายให้ทราบว่าคริสตจักรเป็นของพระคริสต์
ชื่อของมนุษย์ไม่เคยใช้เพื่ออ้างถึงคริสตจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้า (1โกรินโธ 1.2, โยฮัน 20.28) พระเยซูทรงเรียกคริสตจักรง่าย ๆ ว่า "คริสตจักรของเรา" (มัดธาย 16.18) ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่ใช่เช่น "คริสตจักรของพระคริสต์" และ "โบสถ์ของพระเจ้า" (โกโลซาย 1.24, 1ติโมเธียว 3.15) ชื่อเหล่านี้ก็เป็นชื่อเช่นเดียวกันซึ่งหมายความว่า คริสตจักรเป็นของพระเยซูคริสต์ เป็นการถูกต้องเพราะพระเยซูทรงเป็นผู้สร้างและซื้อไว้ด้วยโลหิตของพระองค์ (มัดธาย 16.18, กิจการ 20.28)
ความสำคัญของการใช้ชื่อของพระเยซูคริสต์ได้กล่าวไว้ชัดในโกโลซาย "และท่านจะประกอบกิจสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ดี จะเป็นด้วยวาจาหรือการประพฤติต่าง ๆ ก็ดี จงกระทำทุกสิ่งในพระนามพระเยซูเจ้า คือขอบพระคุณพระเจ้าพระบิดาโดยพระองค์นั้น" (โกโลซาย 3.17) และในกิจการ 4.12 เปโตรได้กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ชื่อไว้ดังนี้ "ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย ด้วยว่านามอื่นซึ่งเป็นที่รอดแก่เราทั้งหลายไม่ทรงโปรดให้มีในท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า" โดยการเข้าใจความจริงเช่นนี้แล้ว ไม่เป็นการแปลกที่พบว่าคริสตจักรท้องถิ่นได้ถูกเรียกว่า "คริสตจักรของพระคริสต์" (โรม 16.16)
บทเรียนต่อไปเราจะได้อภิปรายกันถึงเรื่อง คริสเตียนตามแบบสมัยของพระคริสตธรรมใหม่ บทเรียนบทต่อไปจะเป็นบทสุดท้าย เมื่อท่านได้ศึกษาและตอบคำถามบทเรียนครบทั้ง 8 บทแล้ว ท่านจะได้รับใบประกาศนียบัตรอันสวยงามในไม่ช้า