บทที่ 5

บทที่5 

 การรับบัพติศมา

    เรื่องบัพติศมานี้มีปัญหามากในวงการของนิกายที่เชื่อถือพระคริสตธรรมคัมภีร์  ความจริงแล้วผู้ที่ยึดมั่นตามคำสอนของพระคริสธรรมคัมภีร์ไม่ควรจะมีปัญหาเลย  ที่มีปัญหามากก็เพราะความเข้าใจผิดในการใช้พระคริสตธรรมคัมภีร์  การตีความหมายผิดพลาดกับคำสอนที่แท้จริง  บ้างก็เพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไป  บ้างขาดความรู้อันลึกซึ้งในพระคริสตธรรมคัมภีร์  นำไปใช้ผิด  วิธีดีที่สุดที่จะตัดสินว่าใครถูกใครผิดเกี่ยวกับเรื่องบัพติศมานี้ก็คือ การที่จะศึกษาเรื่องนี้อย่างถ่องแท้  โดยใช้พระคริสตธรรมคัมภีร์เป็นมาตรฐานในการตัดสิน  เพราะทุกคนต่างก็ยอมรับคำสั่งสอนของพระคริสตธรรมคัมภีร์  


ก. บ้างสอนว่าการรับบัพติศมาไม่สำคัญ  ถ้าไม่สำคัญแล้วพระเจ้าจะบันทึกไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทำไม  ทุกสิ่งที่พระเจ้าสั่งย่อมมีความสำคัญทั้งสิ้น  ข้อความต่อไปนี้เป็นข้อความที่ยกมาจากหนังสือของคณะแบบติสต์ที่สอนว่าการรับบัพติศมาไม่สำคัญ  "ศีลบัพติศมา ศีลระลึกนั้นอย่างไร ...  การับบัพติศมาและพิธีศีลระลึกก็มิได้มีกฎเกณฑ์บังคับว่าต้องถือปฏิบัติ  ถ้าไม่ถือพิธีปฏิบัติศีลทั้งสองนี้แล้ว  ก็ไม่นับว่าเป็นคริสเตียนก็หามิได้  เพราะเรานับว่าเป็นคริสเตียนและมีความรอดแล้วตั้งแต่เขายังไม่ได้ถือพิธีศีลสองอย่างนี้  เรานับตั้งแต่เขาเชื่อ  เมื่อมีคนเชื่อแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสรับบัพติศมา  ตายไปเขาก็ตายในความรอด..." (จากหนังสือความรู้เบ็ดเตล็ดสำหรับอนุชนคริสเตียน แผนกอบรมฝึกฝนคณะแบบติสต์ เล่มที่ 3 หน้า 122)  พระคริสตธรรมคัมภีร์มีมากมายที่เน้นเรื่องบัพติศมา  ไม่มีสักแห่งเดียวที่บอกว่าบัพติศมาไม่สำคัญ ตัวอย่างเช่นใน 1เปโตร 3.21 "เช่นนั้นแหละบัดนี้พิธีบัพติศมาก็เป็นที่รอดแก่เราทั้งหลาย  ไม่ใช่ด้วยชำระราคีแห่งเนื้อหนัง แต่ให้มีใจวินิจฉัยผิดและชอบอันดีจำเพาะพระเจ้า"  ข้อความนี้แต่เพียงข้อเดียวก็ชี้แจงให้เข้าใจชัดว่าการรับบัพติศมานั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นที่รอด  ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อแสดงหรือเป็นการชำระร่างกาย  แต่เป็นการชำระใจวินิจฉัย  เพราะฉะนั้นผู้ที่สอนว่าการรับบัพติศมาไม่สำคัญนั้นสอนผิดมาก


ข. บ้างสอนว่าบุคคลได้รับความรอดก่อนรับบัพติศมา  มีหลายคณะที่สอนความคิดของตนเอง  โดยสอนว่าคนที่มีความเชื่อก็ได้รับความรอดแล้วเขาได้รับความรอดก่อนรับบัพติศมา  คำสอนนี้เป็นคำสอนที่บิดเบือนความจริงของพระเจ้า  ทำให้พระคำของพระเจ้าขาดความเคารพ  ไม่มีข้อพระคริสตธรรมคัมภีร์สักข้อเดียวที่สอนว่าความรอดมีก่อนการรับบัพติศมา  พิจารณาดูข้อพระคริสตธรรมคัมภีร์ มาระโก 16.15-16  "ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลกประกาศกิตติคุณแก่มนุษย์ทุกคน  ผู้ใดได้เชื่อและรับบัพติศมาแล้วผู้นั้นจะรอดแต่ผู้ใดไม่เชื่อจะต้องปรับโทษ"  ข้อนี้สอนชัดว่ารับบัพติศมาแล้วจะรอด  ความรอดเกิดหลังจากการรับบัพติศมาไม่ใช่ก่อนรับบัพติศมา  ถ้าผู้ใดไม่เชื่อหรือไม่ปฏิบัติตามผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษ


ค. บ้างสอนว่าความเชื่ออย่างเดียวเท่านั้นก็พอไม่จำเป็นต้องรับบัพติศมา  เรื่องนี้ได้อภิปรายไปแล้วบ้างในบทที่ 4  ขอนำมากล่าวอีกครั้งหนึ่งในความสัมพันธ์กับการรับบัพติศมา  คนที่บอกว่าบัพติศมาไม่สำคัญ  ความเชื่ออย่างเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว  พวกเหล่านี้ใช้ข้อพระคริสตธรรมคัมภีร์ในลูกา 23.43  พระเยซูได้ตรับกับโจรบนไม้กางเขนว่า วันนี้เจ้าจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม  นิกายบางนิกายยกตัวอย่างข้อนี้เป็นข้อแก้ตัวในการปฏิเสธไม่รับบัพติศมา  คนที่ยกเอาข้อนี้มาใช้เป็นข้อแก้ตัว  ก็เป็นเพราะความเข้าใจผิดในคำสอนของพระคริสตธรรมคัมภีร์ที่แท้จริง  พระเยซูได้ตรัสข้อความนั้นแก่โจรบนไม้กางเขน  โจรบนไม้กางเขนขณะนั้นกำลังอยู่ในสมัยคำสัญญาไมตรีเดิม  โจรไม่ได้อยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่  คำสั่งเรื่องบัพติศมาที่พระเยซูสั่งนั้น  หลังจากเป็นขึ้นมาจากตายแล้วพระองค์จึงได้สั่งให้ออกไปสอน  เพราะฉะนั้นการที่ผู้หนึ่งผู้ใดสอนว่าความเชื่ออย่างเดียวก็พอแล้วไม่จำเป็นต้องรับบัพติศมา  เป็นคำสอนของคนที่บิดเบือนความจริง


ง. บ้างสอนว่าทารกมีบาปต้องรับบัพติศมา  มีหลายคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์อธิบายว่าทารกมีบาปเป็นมฤดกตกทอดมาจากบิดามารดา  ทารกไม่มีบาปตกทอดมาจากบิดามารดา  ถ้าบิดาทำบาปแล้วความบาปตกไปถึงลูกด้วยก็ไม่เป็นการยุติธรรม  พระเยซูตรัสว่า  "เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายตามจริงว่า ถ้าพวกท่านไม่กลับใจเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ ท่านจะเข้าในแผ่นดินสวรรค์ไม่ได้เลย" (มัดธาย 18.3)  ข้อความนี้พระเยซูเน้นให้เห็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าในสวรรค์จะต้องเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ  ผู้ใหญ่เป็นคนบาปควรจะกลับใจเสียใหม่  และรับบัพติศมาเพื่อพระเจ้าจะยกโทษให้  แต่เด็กไม่มีความบาปเพราะเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์  โปรดดูข้อพระคัมภีร์อีกข้อหนึ่ง  "จิตต์วิญญาณที่กระทำบาป จิตต์วิญญาณนั้นจะตายแลบุตรจะมิได้แบกซึ่งบาปโทษแห่งบิดานั้น บิดาจะมิได้แบกซึ่งบาปโทษแห่งบุตรนั้น ความชอบธรรมแห่งผู้ชอบธรรมจะอยู่ในตัวเอง ความชั่วแห่งคนชั่วจะอยู่ในตัวเอง  แต่ถ้าคนชั่วนั้นกลับเสียจากความบาปของเขาซึ่งเขาได้กระทำนั้นและจะรักษากฎหมายทั้งปวงของเราและประพฤติความสัตย์และความชอบธรรม เขาจะมีชีวิตเป็นแน่ เขาจะมิได้ตาย" (ยะเอศเคล 18.20-21)  จากข้อความนี้ก็สอนชัดแล้วว่า  เรื่องบาปเป็นเรื่องทุกทุกคนต้องรับผิดชอบเอง มิใช่บิดามารดาทำผิดแล้วบาปจะไปตกกับลูกด้วย  เพราะฉะนั้นผู้ที่สอนว่าทารกควรจะรับบัพิตศมานั้นก็สอนไม่ถูกต้อง  ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง  พระเยซูตรัสว่าผู้ใดเชื่อและรับบัพติศมาจะรอด  ทารกยังไม่เข้าใจเรื่องฝ่ายวิญญาณจิต  ทารกยังไม่มีสติปัญญามากเพียงพอที่จะเข้าใจเรื่องบาป  เมื่อไม่เข้าใจแล้วจะเกิดความเชื่อได้อย่างไร  ทารกไม่จำเป็นต้องรับบัพติศมาเพราะทารกไม่มีบาป


จ. บางพวกสอนว่าผู้ที่รับบัพติศมาแล้วจะรอดตลอดไป  คำสอนนี้ก็ไม่ถูกต้องตามหลักพระคริสตธรรมคัมภีร์อีก  เพราะเมื่อบุคคลใดเป็นคริสเตียนแล้วคงจะมีเวลาหนึ่งที่คงพลาดล้มกระทำผิดไปบ้างโดยความโง่เขลา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์  เมื่อคนหนึ่งพลาดล้มทำบาปเขาจะต้องกลับใจเสียใหม่และอธิษฐาน  แต่เขาไม่ต้องรับบัพติศมาใหม่  "แต่ถ้าเราดำเนินอยู่ในความสว่าง เหมือนอย่างพระองค์สถิตอยู่ในความสว่าง เราก็ร่วมสามัคคีธรรมซึ่งกันและกัน และพระโลหิตของพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ ได้ทรงชำระเราทั้งหลายให้ปราศจากบาปทั้งสิ้น" (1โยฮัน 1.7)  ข้อนี้สอนว่าเป็นการจำเป็นที่คริสเตียนจะต้องดำรงชีวิตในความสว่าง  ถ้าคริสเตียนอยู่ในความมืดเขาก็เป็คนบาป  ถ้าไม่กลับใจเสียใหม่เขาก็จะพินาศ  ในกิจการ 8.19-22 สอนเรื่องซีโมนที่ได้กระทำผิดไป  เปโตรเรียกร้องให้เขากลับใจเสียใหม่และอธิฐาน   "หากว่าพี่น้องของท่านผู้หนึ่งทำผิดต่อท่าน จงไปแจ้งความผิดนั้นแก่เขาสองต่อสองเท่านั้น ถ้าเขาฟังท่านก็จะคืนดีเป็นพี่น้องกันอีก  แต่ถ้าเขาไม่ฟังท่าน จงนำคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วยให้เป็นพะยานสองสามปาก เพื่อทุกคำจะเป็นหลักฐานได้  ถ้าเขาไม่ฟังคนเหล่านั้น จงไปแจ้งความต่อคริสตจักร ถ้าเขายังไม่ฟังคริสตจักรอีก ก็ให้ถือเสียว่าเขาเป็นเหมือนคนต่างประเทศหรือคนเก็บภาษี" (มัดธาย 18.15-17)   ข้อความนี้สอนว่าเป็นไปได้ที่คริสเตียนผู้ที่รับบัพติศมาแล้วอาจจะพลาดล้มกระทำผิด  จึงจำเป็นต้องมีพี่น้องคริสเตียนคนอื่นช่วยเหลือให้เขากลับเป็นคนดีอีก  มีข้อพระคริสตธรรมคัมภีร์อีกมากที่สอนว่าผู้ที่รับบัพติศมาแล้วไม่รอดอยู่ตลอดไป  ตราบใดที่เขาดำเนินอยู่ในความสว่างเขาก็รอด  แต่ถ้าเขาหลุดจากพระคุณของพระเจ้า เขาก็จะหมดสิทธิ์การเป็นบุตรของพระเจ้า


พระคริสตธรรมคัมภีร์สอนเรื่องบัพติศมาอย่างไร?
1. คำจำกัดความของคำว่าบัพติศมา  คำว่า "บัพติศมา" ไม่ใช่เป็นภาษาไทย  คำว่าบัพติศมานี้แปลมาจากภาษากรีกว่า "บัพติศโซ่"  แปลตรง ๆ ว่าจุ่มมิดน้ำ ฝังลงไปในน้ำ ดำมิดน้ำ  ผู้ที่แปลว่า พิธีใช้น้ำ ทำให้คนที่ไม่ศึกษาพระคริสตธรรมคัมภีร์โดยละเอียดเข้าใจผิดว่าการพรมน้ำก็ใช้น้ำเหมือนกันคงไม่เป็นไร  ซึ่งความจริงแล้วไม่ถูกต้องตามหลักพระคริสตธรรมคัมภีร์  เรื่องการพรมและการเทน้ำนี้ได้มีการใช้โดยคณะโรมันคาธอลิค เมื่อปี ค.ศ.1311  หลังจากนั้นก็มีนิกายอื่นนำเอาการพรมและการเทน้ำมาใช้แทนการจุ่มและปฏิบัติกันเรื่อยมา
2. บัพติศมาเป็นคำตรัสสั่งอันสำคัญของพระเยซูคริสต์  ก่อนที่พระเยซูจะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์  พระเยซูตรัสว่า  "เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก ให้รับบัพติศมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์  สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัตรซึ่งเราได้สั่งพวกท่านไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไปเป็นนิตย์กว่าจะสิ้นโลก" (มัดธาย 28.19-20)  จากข้อความนี้มีสามสิ่งที่สำคัญ 
(1) พระเยซูสั่งอัครสาวกให้ออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศ 
(2) ให้เขารับบัพติศมาในนามแห่งพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ 
(3) เมื่อรับบัพติศมาแล้วสอนให้เขาถือรักษาสิ่งสารพัดที่พระเยซูได้ทรงตรัสแก่อัครสาวกเมื่อครั้งยังอยู่ในโลกนี้
    ข้อพระคัมภีร์อีกข้อหนึ่งคือ  มาระโก 16.15-16  "...ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลกประกาศกิตติคุณแก่มนุษย์ทุกคน  ผู้ใดได้เชื่อและรับบัพติศมาแล้วผู้นั้นจะรอดแต่ผู้ใดไม่เชื่อจะต้องปรับโทษ"   ข้อความนี้มีสามสิ่งที่สำคัญ คือ 
(1) พระเยซูสั่งให้อัครสาวกออกไปประกาศแก่มนุษย์ทุกคน 
(2) คนที่เชื่อให้เขารับบัพติศมาเพื่อเขาจะรอด 
(3) ผู้ที่ไม่เชื่อจะต้องถูกปรับโทษ
    ข้อความทั้งสองแห่งที่กล่าวมาแล้วมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ผู้ที่เป็นสาวกของพระเยซูจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซู  "ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา"  (โยฮัน 14.15)
3. บัพติศมาเป็นคำสัญญาของพระเจ้า  ความจริงแล้วบัพติศมาแต่เพียงอย่างเดียจะไม่กระทำให้วัตถุประสงค์ทั้งสิ้นสำเร็จ  บัพติศมาคือการจุ่มลงในน้ำ  ในน้ำไม่มีอะไรที่จะรักษาบาปของเราได้  แต่สิ่งสำคัญคือพระเจ้าสัญญาว่าถ้าเราปฏิบัติตามคำตรัสสั่งของพระองค์  พระองค์ก็จะทรงยกความผิดบาปของเราไปเสีย  พระเจ้าเป็นผู้สัญญาไม่ใช่มนุษย์  พระคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวว่า  ผู้ใดได้เชื่อและรับบัพติศมาจะรอด  คำสัญญาของพระเจ้าเป็นคำตรัสอันสัตย์จริง  เพราะฉะนั้นความรอดบาปนี้เป็นโครงการของพระเจ้า  ไม่ใช่เป็นความสามารถของมนุษย์เอง  ถ้าพระเจ้าสัญญาจะยกโทษของเรา  มนุษย์จำเป็นต้องไว้วางใจในคำสัญญาของพระเจ้า
4. บัพติศมามีกี่ชนิด  "มีกายอันเดียวและมีพระวิญญาณองค์เดียว เหมือนมีความหวังใจอันเดียวซึ่งเกี่ยวกับที่ท่านทั้งหลายทรงถูกเรียกนั้น  มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ความเชื่ออย่างเดียว บัพติศมาอันเดียว  พระเจ้าองค์เดียวผู้เป็นพระบิดาของคนทั้งปวง ผู้อยู่เหนือคนทั้งปวง และทั่วคนทั้งปวง และในคนทั้งปวง" (เอเฟโซ 4.4-6)  จากข้อความนี้ชี้แจงให้เห็นชัดว่าบัพติศมาตามหลักพระคริสตธรรมคัมภีร์มีอันเดียว  พระเยซูได้ตรัสสั่งให้มีการรับบัพติศมาเมื่อ ค.ศ. 33  หลังจากที่พระองค์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย  ต่อมาอัครสาวกเปาโลเขียนหนังสือเอเฟโซ เมื่อ ค.ศ. 63  ชี้แจงว่ามีบัพติศมาอันเดียว  บัพติศมาอันเดียวนี้คือบัพติศมาในน้ำ  เป็นบัพติศมาเพื่อความผิดบาปจะยกเสีย "เช่นนี้แหละ บัดนี้พิธีบัพติศมาก็เป็นที่รอดแก่เราทั้งหลาย ไม่ใช่ด้วยชำระราคีแห่งเนื้อหนัง แต่โดยให้มีใจวินิจฉัยผิดและชอบอันดีเฉพาะพระเจ้า"  เพราะฉะนั้นบัพติศมาอันเดียวที่พระคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวถึง  คือ การจุ่มมิดน้ำ  ผู้ที่สอนนอกเหนือพระคริสตธรรมคัมภีร์มักจะให้ข้อแก้ตัวว่าการพรมหรือการเทน้ำไม่สำคัญ  สิ่งที่สำคัญก็คือความเชื่อของผู้ที่จะรับบัพติศมา ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่อันตรายมาก  แพราะคำตรัสสั่งของพระเจ้าทุกอย่างย่อมสำคัญทั้งสิ้น  ถ้ามนุษย์เปลี่ยนแปลงคำสั่งของพระเจ้าก็เท่ากับว่าเราหมิ่นประมาทต่อพระเจ้าและพระบัญญัติของพระองค์
    มีบางคนโต้แย้งว่า พระเยซูรับบัพติศมาในแม่น้ำยาระเดน เราก็ควรเดินทางไปรับบัพติศมาในแม่น้ำยาระเดน   โปรดดูคำสั่งของพระเยซูเรื่องบัพติศมาอีกครั้งหนึ่ง   พระเยซูสั่งไว้ใน มัดธาย 28.19-20 และ มาระโก 16.15-16  ทั้งสองข้อนี้กล่าวว่า ท่านจงออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศ  เป็นที่เข้าใจโดยปริยายว่า  เมื่อผู้ใดจะไปสอนเขาที่ไหนมีผู้เชื่อที่นั่นก็ให้เขารับบัพติศมาที่นั้น  ยกตัวอย่างเมื่อเปโตรยืนรขึ้นในกรุงยะรูซาเล็มในวันเพ็นเทศเต  ประชาชน 3,000 คนได้รับบัพติศมา  เขาทั้งหลายได้รับบัพติศมาที่ไหน   ที่แม่น้ำยาระเดนหรือเปล่า?  ที่กรุงยะรูซาเล็ม (กิจการ 2.41)  ตัวอย่างอีกแห่งหนึ่ง ฟิลิปผู้ประกาศได้เดินทางไปพบกับขันทีระหว่างทางกลับยะรูซาเล็ม  ฟิลิปได้สอนขันที,  ขันทีได้รับบัพติศมาระหว่างการเดินทางนั้น  โปรดดูกิจการ 8.36-39  ในหนังสือกิจการบทที่ 13 ถึง 28  เห็นตัวอย่างได้ชัดเจนว่า  เมื่อเปาโลเดินทางประกาศพระกิตติคุณที่อาเซียน้ำ เกาะไซปรัส  ประเทศกรีก  จนถึงประเทศยุโรป  ทั่วทุกแห่งมีผู้เชื่อที่ไหนก็ให้มีการให้รับบัพติศมาที่นั่นไม่จำเป็นต้องกลับไปที่แม่น้ำยาระเดน  เพราะฉะนั้นข้อโต้เถียงดังกล่าวข้างต้นไม่มีข้อพระคริสตธรรมคัมภีร์ยืนยัน  เราจึงสรุปว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์สอนว่ามีบัพติศมาอันเดียว  และบัพติศมานั้นก็คือบัพติศมาฝังในน้ำ  เพื่อความผิดบาปจะยกเสีย  โดยอาศัยอำนาจของพระบิดาพระเจ้า พระบุตรคือพระเยซู และโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์  (มัดธาย 28.19-20)
5. จุดประสงค์ของบัพติศมา  การที่บุคคลจุ่มลงในน้ำมีจุดประสงค์ มีเหตุผลอะไร มีความหมายและความสำคัญอย่างไร  ถ้าจะเป็นคริสเตียนไม่ต้องจุ่มในน้ำไม่ได้หรือ  เราจะได้ศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ในบทที่ 6
 

ตอบคำถามแบบทดสอบ บทที่ 5  คลิกที่นี่

บทที่6